วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

“กำไร” หัวใจของธุรกิจ‏




มาทำความเข้าใจเรื่องของ "กำไร" ถือเป็น "หัวใจ" คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วทั้งร่างกาย
บรรทัดแรกของงบกำไรขาดทุน คือ "รายได้" หรือ "ยอดขาย" ของกิจการ อันเกิดจากธุรกิจที่ทำ ซึ่งเมื่อหักด้วย "ต้นทุนขาย" (เช่น ค่าวัตถุดิบ  ค่าแรง ฯลฯ) ก็จะกลายเป็น "กำไรขั้นต้น" (Gross Profit) อันเป็นกำไรตัวแรกในงบกำไรขาดทุน
แต่ชื่อก็บอกแล้วว่า เป็นเพียง "กำไรขั้นต้น" เท่านั้น คือมาจาก รายได้ หรือ ยอดขาย หักด้วย "ต้นทุน" ซึ่งจะทำให้เห็นภาพพื้นฐานได้อย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น สมัยเด็ก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซื้อโค้กแพ็คละ 6 กระป๋อง ในราคา 25 เซ็นต์ จากนั้นจึงเอาไปขายปลีกให้กับคนที่เดินผ่านไปผ่านมาในราคากระป๋องละ 5 เซ็นต์ เท่ากับว่าได้เงินแพ็คละ 30 เซ็นต์ (5 x 6 = 30)
จากยอดขายที่เขาทำได้ 30 เซนต์ต่อแพ็ค เมื่อหักด้วยต้นทุนแพ็คละ 25 เซนต์ เท่ากับว่าบัฟเฟตต์ได้กำไร 5 เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็น "กำไรขั้นต้น" ของหนูน้อยบัฟเฟตต์นั่นเอง
หรือลองยกตัวอย่างธุรกิจใหญ่ๆ บ้าง สมมติว่าเป็น "บริษัทขายเบเกอรี่" ต้นทุนขายก็คือค่าแป้งสาลี น้ำตาล ถั่ว งา ฯลฯ ที่เอามาผลิตขึ้นเป็นก้อนขนมปัง
ทั้งนี้ กำไรขั้นต้น ยังไม่ใช่สิ่งที่เราจะได้รับจริงๆ เพราะยังต้องมีอีกหลายอย่างที่เราต้อง "หัก" ออกไป
ลำดับต่อไปที่เราต้องหักออกก็คือ "ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน"  (Operating Expense) บ้างก็เรียกว่า "ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร" (Selling & Administrative Expense)
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หรือ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ต้นทุนโดยตรงของสินค้าหรือบริการ แต่เกิดขึ้นจากกระบวนการขายสินค้าหรือบริการนั้นๆ หรือเกิดขึ้นจากการบริหารกิจการ  
ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายประเภทนี้ อาทิ เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟในสำนักงาน ค่าน้ำมันรถ ค่าเช่าที่ ฯลฯ
เมื่อนำ "กำไรขั้นต้น" หักออกด้วย "ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน" แล้ว ก็จะเหลือเป็น "กำไรจากการดำเนินงาน" (Operating Profit)
จากตัวอย่างเดิม สมมติ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในวัยเด็กต้องขึ้นรถเมล์ไปซื้อโค้กมาขาย โดยเสียค่ารถเมล์ 1 เซนต์ "ค่ารถเมล์" ที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
และสมมติเล่นๆ ว่า กิจการเริ่มงอกเงย จนหนูน้อยวอร์เรนจ้างเพื่อนที่โรงเรียนไปยืนขายโค้กแทนตัวเอง โดยแบ่งให้เพื่อนแพ็คละ 1 เซ็นต์ รวมแล้วธุรกิจของวอร์เรนจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเท่ากับ ค่ารถเมล์ 1 เซ็นต์ + ค่าจ้างเพื่อน 1 เซนต์ รวมเป็น 2 เซนต์
ดังนั้น กำไรของบัฟเฟตต์ที่เหลืออยู่แพ็คละ 3 เซ็นต์ (5 – 2 = 3) ก็คือ "กำไรจากการดำเนินงาน" นั่นเอง
ในกรณีของบริษัทเบเกอรี่ที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว "ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร" ก็คือ เงินเดือนพนักงาน, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าเช่าที่สำหรับทำโรงงาน ฯลฯ
และที่อธิบายมาทั้งหมด คือ กำไรสองตัวแรก ได้แก่ "กำไรขั้นต้น" (Gross Profit)  "กำไรจากการดำเนินงาน" (Operating Profit) รวมทั้งในฝั่งของต้นทุน คือ "ต้นทุนขาย" และ "ต้นทุนในการดำเนินงาน"
พอจะเข้าใจกันไหมครับ ? ถัดมา เรามาทำความเข้าใจถึงกำไรในบรรทัดต่อๆ ไป ได้แก่ EBITDA และ Net Profit กัน

ขอย้อนกลับมาที่กำไรจากการดำเนินงานสักนิดหนึ่งก่อน คำว่า “กำไรจากการดำเนินงาน” หรือ Operating Profit นี้ บ้างก็เรียกว่า “EBIT” ย่อมาจาก Earnings before Interest and Tax ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกำไรก่อนที่จะหัก “ดอกเบี้ยจ่าย” (Interest) และ “ภาษีเงินได้” (Tax)
เหตุที่ต้องแยก ดอกเบี้ยจ่าย และ ภาษีเงินได้ ออกมาให้เห็น ก็เพราะทั้งสองตัวนี้ คือ “ภาระทางการเงิน” และ“ภาระทางกฎหมาย” ที่กิจการต้องรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามปกติ เมื่อหักทั้งสองตัวนี้แล้ว จึงจะกลายเป็น “กำไรสุทธิ” หรือ Net Profit ซึ่งถือเป็น “กำไรขั้นสุดท้าย” ที่ธุรกิจนั้นทำได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงแม้กำไรจะมีอยู่หลายประเภท แต่ “กำไรสุทธิ” เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญที่สุด เพราะเป็น “บทสรุปสุดท้าย” ของสิ่งที่บริษัทมีอยู่ในมือ
อย่างไรก็ตาม การเอากำไรสุทธิมาวัดผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น บางครั้งก็อาจไม่ถูกต้องเที่ยงตรงเสมอไป เพราะบางบริษัทมี “ค่าใช้จ่ายในทางบัญชี” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บริษัทได้ไม่ได้จ่ายค่าใช้จ่ายในรายการเหล่านี้ออกไป
ค่าใช้จ่ายในทางบัญชีที่ว่านั้น ได้แก่ Depreciation หรือ “ค่าเสื่อมราคา” และ Amortization หรือ “ค่าใช้จ่ายตัดจ่าย” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ “ไม่มีตัวตน” คือ “ไม่ได้จ่ายเงินออกไปจริง” (แต่รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน) เป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น
ดังนั้น วิธีที่จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการทำธุรกิจของบริษัทได้ดีกว่าก็คือ ให้เอาค่าใช้จ่ายทั้งสองตัว (ทั้ง D และ A) บวกกลับเข้าไปใน EBIT ก็จะกลายเป็นกำไรตัวใหม่ ที่เรียกว่า “EBITDA"
EBITDA ย่อมาจาก Earnings before Interest, Tax, Depreciation and Amortization หาได้โดย เอา EBIT บวกด้วย Depreciation (D) หรือ ค่าเสื่อมราคา และ Amortization (A) หรือ ค่าใช้จ่ายตัดจ่าย
ประโยชน์ของ EBITDA ก็คือ เป็นกำไรจากการดำเนินงานจริงๆ เนื่องจากทั้ง I, T, D และ นั้น ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปกติ เมื่อตัดทั้ง 4 ตัวดังกล่าวออกไป จะทำให้เห็น “ภาพที่แท้จริง” ของการประกอบธุรกิจของบริษัท
อาจกล่าวได้ว่า เมื่อเอา EBITDA ของบริษัทต่างๆ มาเทียบกัน จะเห็นถึง “ความสามารถ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ฝีมือ” ในการทำธุรกิจของแต่ละบริษัท โดยไม่มี “ตัวช่วย” ไม่มี “แต้มต่อ” ถ้าเป็นมวยก็คือ วัดกัน “หมัดต่อหมัด” เอาแต่ เนื้อๆ เน้นๆ ให้เห็นๆ กันไปเลย
ดังนั้น เวลาวิเคราะห์ธุรกิจ จะดูแต่ Net Profit อย่างเดียวไม่ได้ อย่าลืมมองกำไรประเภทอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย เพื่อจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนแม่นยำขึ้น 
ขอบคุณข้อมูลจาก ... Club VI คลับวีไอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น