วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เข้าใจงบการเงินง่าย ๆ สไตล์กูรู

ช่วงนี้เป็นฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2555 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบางบริษัทจะมีจ่ายเงินปันผลกลางปีด้วย วันนี้ผมจึงอยากจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าของบริษัท (Value Creation) และอัตราส่วนทางการเงินแบบง่าย ๆ ที่ได้แนวคิดจาก อ.เทพ รุ่งธนาภิรมย์ ในงานสัมมนาของ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง เพื่อจะช่วยในการอ่านงบการเงินของบริษัทที่ท่านลงทุนอยู่ได้ ดังนี้ :- 


การสร้างมูลค่าของบริษัทต่าง ๆ  (Value Creation) เิริ่มจาก ผู้ืถือหุ้นนำเงินเข้าไปลงทุนในบริษัท (1. Equity หรือ ส่วนของผู้ถือหุ้น) และกู้ยืมเงินจากแหล่งต่าง ๆ มาเพิ่ม (Liabilities / Debts หรือ หนี้สิน) หลังจากนั้นบริษัทก็นำเงินทั้ง 2 ส่วนนี้ไปสร้างสินทรัพย์ (2. Assets) ขึ้นมา แล้วนำเอาสินทรัพย์ที่มี ไปสร้างรายได้ (3. Revenues) เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะเหลือกำไรสุทธิ (4. Net Profits)

เราสามารถพบรายการ Equity (ส่วนของผู้ถือหุ้น), Liabilities / Debts (หนี้สิน) และ สินทรัพย์ (Assets) จาก งบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Financial Position) หรือแต่เดิมเรียกว่า งบดุล (ฺBalance Sheet)ทำให้ได้สมการบัญชี คือ 

"สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ืถือหุ้น"





ส่วนรายการ รายได้ (Revenues) และ กำไรสุทธิ (Net Profits) จะำพบได้ใน งบกำไรขาดทุน (Income Statement or Profit and Loss Statement) ทำให้ได้สมการบัญชีขึ้นมาอีกหนึ่งอัน คือ


"รายได้ - ค่าใ้ช้จ่าย = กำไรสุทธิ"





โดย ค่าใช้จ่าย (Expenses) อาจจำแนกตามหน้าที่งานโดยแบ่งเป็น 6 ประเภท คือ
1.) ต้นทุนขาย (Cost of Goods Sold) 
2.) ค่าใช้จ่ายในการขาย (Selling Expenses) เช่น ค่าโฆษณา, ค่านายหน้าพนักงานขาย, เงินเดือนฝ่ายขาย, ค่าขนส่งออก (ค่าขนส่งสินค้าไปให้กับลูกค้า) เป็นต้น
3.) ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administrative Expenses) เช่น เงินเดือนฝ่ายบริหาร, ค่าเบี้ยประกันภัยสินทรัพย์, ค่าเช่า, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, ค่าเสื่อมราคาอาคารและอุปกรณ์ และหนีสงสัยจะสูญ (ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกหนี้ที่คาดว่าจะเก็บเงินไม่ได้) เป็นต้น
4.) ค่าใช้จ่ายอื่น (Other Expenses) เช่น ขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ เป็นต้น
5.) ต้นทุนทางการเงิน (Financial Costs) เช่น ดอกเบี้ยจ่าย, ค่าธรรมเนียมการกู้ยืม เป็นต้น
6.) ภาษีเงินได้ (Income Tax)

เมื่อเรานำตัวเลขทั้ง 4 มาหาอัตราส่วน จะได้อัตราส่วนต่าง ๆ ดังนี้


1. นำ กำไรสุทธิ (Net Profits) มาหารด้วย รายได้ (Revenues) เรียกว่า "อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)" แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของกิจการในการควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูง แสดงว่า กิจการมีความสามารถในการขาย และควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี

2. นำ กำไรสุทธิ (Net Profits) มาหารด้วย สินทรัพย์ (Assets) เรียกว่า "อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return On Assets : ROA)" เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ธุรกิจใช้ในการดำเนินงาน ค่ายิ่งมาก ยิ่งมีความสามารถในการทำกำไรยิ่งดี

3. นำ กำไรสุทธิ (Net Profits) มาหารด้วย Equity (ส่วนของผู้ถือหุ้น) เรียกว่า "อัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุนรวม (Return On Equity : ROE)" เป็นการวัดความสามรถในการทำกำไรจากเงินทุนของผู้ถือหุ้น หากได้ค่าสูง แสดงว่า ผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง

4. นำ รายได้ (Revenues) มาหารด้วย สินทรัพย์ (Assets) เรียกว่า "อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ (Total Asset Turnover)" แสดงให้เห็นว่า กิจการสามารถนำสินทรัพย์รวมทั้งหมดที่ลงทุนไป นำไปสร้างยอดขายได้กี่เท่า ถ้าอัตรานี้สูง แสดงถึงความมีประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ แต่ถ้าต่ำเกินไป อาจแสดงว่า กิจการมีิสินทรัพย์จำนวนมาก เช่น สินค้าล้าสมัย, ชำรุดเสียหาย, มีสินค้าที่ขายไม่ออก เป็นต้น

5. นำ Equity (ส่วนของผู้ถือหุ้น) มาหารด้วย สินทรัพย์ (Assets) เรียกว่า "อัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์รวม (Equity Ratio)" และจากสมการบัญชีในงบดุล จะได้ว่า ส่วนของผู้ถือหุ้น = สินทรัพย์ - หนี้สิน ทำให้ได้สูตรอีกอย่างหนึ่ง คือ 1 - ( หนี้สิน / สินทรัพย์ ) โดย หนี้สิน หารด้วย สินทรัพย์ เรียกว่า "อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt - Equity Ratio)" ทั้งสองอัตราส่วนนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า สินทรัพย์ของกิจการได้มาจากทุนของผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ ถ้าทั้งสองอัตรานี้สูง แสดงว่า บริษัทมีเจ้าหนี้มากหรือกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับทุนของบริษัท บริษัทก็ย่อมมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงภัยมากขึ้น


ลองฝึกดูงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินของแต่ละบริษัทบ่อย ๆ จะช่วยให้จำได้และเข้าใจยิ่งขึ้น : D


ขอบคุณข้อมูลจาก อ.เทพ รุ่งธนาภิรมย์ และ อ.ธนเดช มหโภไคย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น