วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คุณเป็น "แมงเม่า" ขั้นเทพหรือเปล่า ?

"แมงเม่า" คือ กลุ่มนักลงทุนเก็งกำไรที่ชื่นชอบความเสี่ยง เล่นหุ้นตามข่าว ตามกระแส หรือบ้างก็ใช้เรียกนักลงทุนรายย่อยทั่วไป แน่นอนว่านักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามาในสมรภูมิเก็งกำไรเริ่มต้นย่อมเป็นแมงเม่ากันทั้งนั้น แต่เวลาจะสร้างภูมิต้านทานและพัฒนาทักษะให้แข็งแกร่งขึ้น เพียงแต่ว่าแมงเม่าอย่างเราจะอยู่รอดจนบรรลุขั้นสูงของวัฏจักรแมงเม่าได้หรือเปล่า โดยผู้เขียนจากเว็บไซด์ http://www.cway-investment.com/2011/02/blog-post_16.html ได้แบ่ง "แมงเม่า" ออกเป็น 4 รุ่น ดังต่อไปนี้ 



แมงเม่า 1.0 (เม่าละอ่อนน้อย)
เป็นแมงเม่าขั้นปฐม ละอ่อนน้อยที่เข้ามาเผชิญโลกกว้าง ยังมองโลกในแง่ดีหวังรวยรวดเร็ว เชื่อคนง่าย ลองผิด ลองถูก เล่นหุ้นตามข่าว เล่นหุ้นตามกระแสที่เขาว่าดี มีคนเชียร์ ชอบตั้งคำถามว่า ทำไมหุ้นตัวนี้ราคาตกลง ? ทำไมตัวนี้ไม่วิ่ง ? ทำไม ? ทำไม ? ทำไม ???

แมงเม่า 2.0 (เม่าเกรียน)
แมงเม่าที่เริ่มผ่านการขาดทุน เริ่มเรียนรู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี รู้จักความเสี่ยงและความเจ็บปวด จนมีการหาความรู้เพิ่มเติม เข้าอบรม หรือเรียนรู้กราฟเทคนิค, ดูสัญญาณซื้อขาย, นับคลื่น 1 2 3 4 5 ร้อนวิชา ชอบโชว์เพาว์ มีอีโก้ ชอบเสี่ยง นิยมเกรียนตามเว็บบอร์ด แต่สุดท้ายก็ยังขาดทุนและพาเพื่อนไปขาดทุน ส่วนมากเพราะมั่นใจมากเกินไป และตัดขาดทุนไม่เป็น

แมงเม่า 3.0 (เม่านักทำนาย)
พัฒนาเรื่องเทคนิค รู้จักจับอินดิเคเตอร์มาทำระบบเทรด หรือเรียนรู้ระบบเทรดจากที่ต่างๆ เริ่มรู้จักการจัดการเงินลงทุน มีกลยุทธ์ ได้กำไรบ้าง สลับขาดทุนบ้าง เพราะติดนิสัยชอบเดาอนาคต ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป

แม่งเม่า 4.0 (เม่าเทพ)
แมงเม่าปีกเหล็กทนไฟ ใกล้หลุดพ้น เทพไปเลย อยู่ในตลาดมาหลายปี ผ่านวิกฤตการเงิน เข้าใจสัจธรรม ไม่ยึดติดกับราคา ลึกซึ้งในเทคนิค มั่นคงในระบบเทรดของตน มีวินัยในการเล่นสูง อยู่กับปัจจุบัน ไม่คาดเดาอนาคต เก็บตัวไม่ชอบโชว์ เล่นไปบนกระแสของราคาตามแนวโน้ม ถนอมตัวต่อยหนัก เล่นในเกมส์ที่คิดว่ามีโอกาสชนะมากกว่าแพ้

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ขอยกตัวอย่างหุ้น "PTL" หุ้นเก็งกำไรยอดนิยม เพื่อให้เห็นภาพว่า การเก็งกำไรแท้จริงแล้ว เรากำลังอยู่ในเกมส์ที่มีผู้ล่าและผู้ถูกล่า ทุกคนต้องการกำไร แต่ถ้าไม่มีคนขาดทุน ใครจะได้กำไรหละครับ ? เพราะฉะนั้น การแข่งขันชิงจังหวะจึงเกิดขึ้น ถ้าเราหลงไปในเกมส์หรือหลงไปตามความโลภแพ้ใจตัวเอง สุดท้ายเราก็ต้องกลายเป็นเหยื่ออันโอชะอยู่ดี



ถ้าเราไม่อยากเป็น "แมงเม่าละอ่อนน้อย" หรือ "แมงเม่าบินเข้ากองไฟ" ในตลาดหุ้น เราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "ความรู้สึกของแมงเม่า" กับ "การเคลื่อนไหวของราคา" ตามแผนภาพด้านล่าง นี้ก่อน
Loading...


A คือ “แหยง ไม่กล้าซื้อ” : คือช่วงเวลาหลังหุ้นตกลงมาอย่างมากจนถูกสุดๆ แต่นักลงทุนรายย่อยจะไม่กล้าซื้อ เพราะเพิ่งขาดทุนมา ยังเข็ดไม่หาย และแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่วิเคราะห์คือ "มีโอกาสลงต่อ" (ณ จุดที่หุ้นราคาถูก คุณไม่มีทางทราบว่า ราคาถูกที่สุดหรือยัง จนกว่ามันจะผ่านมาสักระยะ แล้วมองย้อนไปในอดีตถึงจะรู้ว่า ช่วงเวลาใดที่ราคาหุ้นถูกที่สุด แต่ไม่ต้องเสียดาย เพราะเราไม่ได้คาดหวังให้คุณซื้อได้ถูกที่สุด แต่ต้องซื้อแล้วได้กำไรเป็นพอ) 

B คือ “ขายหมู (สำหรับคนมีหุ้น) : ช่วงที่เพิ่งเริ่มขึ้นใหม่ๆ คนจะยังไม่มั่นใจ คนที่ถือหุ้นเอาไว้ (อาจจะซื้อที่ยอดดอย หรือ ซื้อที่ราคาต่ำ) ก็จะขายทำกำไรออกมาก่อน ซึ่งช่วงนี้ ราคาจะค่อยๆ ขยับขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อบีบให้คนกลัวขายออกมาให้หมด และจะขึ้นแบบไม่มีวอลุ่มมาก แสดงว่า แมงเม่ายังไม่เข้ามาแจม 

C คือ “ตกรถ (เสียดาย)” : เมื่อรายย่อยขายหุ้นออกไปจำนวนมาก ราคาจะเริ่มขึ้นเร็วขึ้น มีแต่คนบ่นว่าตกรถ แต่ก็ไม่กล้าซื้อช่วงนี้ เซียนหุ้นมือใหม่ (แมงเม่านั่นเอง) จะแสดงความเก่งว่า “เดี๋ยวมันก็ลงมา เราจะไม่หลงกลเข้าไปซื้ออีกเด็ดขาด” 

D คือ “ไล่ซื้อตาม (ยังไม่ประมาท)” : หลังจากอดทนรออยู่นาน ก็จะเริ่มทนไม่ไหว เพราะราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นไปต่อ ยิ่งหุ้นที่เราเคยเล่นด้วยแล้ว มันน่าเข้าไปเล่นตามน้ำ เอากำไรเล็กๆ น้อยๆ แก้เบื่อดีกว่าอยู่เฉยๆ 

E คือ “ขายทำกำไร (เริ่มลำพอง)” : หลังจากเข้าไปซื้อหุ้นที่ตัวเองเคยเล่น ก็สามารถหาจังหวะขายตามน้ำได้ และได้กำไรกันเล็กๆ น้อย เพราะเอากำไรในช่วงสั้นๆ ช่วงนี้รายย่อยจะเข้ามาในตลาดกันเยอะ และยิ่งกำไร จะยิ่งลำพองมากขึ้น 

F คือ “ขายแล้ววิ่งต่อ (เสียดาย น่าจะซื้อเยอะกว่านี้ และรออีกหน่อย)” : หลังจากที่ขายหุ้นทำกำไรไปแล้ว ราคาหุ้นอาจจะวิ่งไปต่ออีกหน่อย และเป็นช่วงที่มีปริมาณการซื้อขายสูงมากที่สุด แสดงว่า รายย่อยเข้ามาเต็มตลาดแล้ว และ หุ้นก็เริ่มมีการเปลี่ยนมือสู่รายย่อยกันเยอะขึ้น 

G คือ “ลงมาให้ซื้อกลับ (ดีใจมากที่มันลงมาต่ำกว่าที่เคยขายไป)” : หลังจากตลาดผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ก็มีการปรับตัวลงมาบ้าง ซึ่งตอนนี้จะมีรายย่อยเข้ามารับหุ้นกลับ 

H คือ “โลภซื้อเพิ่ม (คิดว่ามันคงจะเด้งกลับไป)” : หลังจากซื้อไปแล้ว หุ้นยังลงมาต่อ ด้วยความโลภ อยากเอากำไรให้เต็มที่กว่าคราวที่แล้ว จึงซื้อเพิ่มด้วยความดีใจว่า "ซื้อได้ถูกกว่าเดิมอีก !" 

I คือ “เครียด แต่ไม่ขาย (เริ่มเสียวๆ แต่ขายไม่ลง)” : หลังจากซื้อถัวไป หลายรอบเงินก็เริ่มหมด แต่หุ้นก็ยังลงต่อ การจะตัดใจขายก็ทำไม่ลง เพราะต้นทุนครั้งแรกก็สูงเหลือเกิน กะว่าจะรอให้มันเด้งอีกสักทีจะขาย 

J คือ “ตัดใจขาย (กลัวขาดทุนเพิ่ม)” : อดทนอยู่ในความเครียด เห็นหุ้นลงต่อเนื่องมาหลายวัน เริ่มทนไม่ได้ และหุ้นก็มีแนวโน้มจะลงต่อ เป็นช่วงที่ตลาดจะมีข่าวร้ายเข้ามามากกว่าข่าวดี เพื่อป้องการการขาดทุนมากกว่านี้ จึงตัดใจขาย และคิดว่า "จะไม่ไปยุ่งกับ หุ้นตัวนี้อีก"

แล้วก็วนกลับมายังจุด A ไปยัง J อีกครั้ง วนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขาดทุนจนเลิกเล่นหุ้น แล้วคนใหม่ๆ ก็เข้ามาแทนที่ กลายเป็น "วัฏจักรของนักเล่นหุ้นที่ไม่สบความสำเร็จ"






สุดท้ายนี้มาตรวจสอบกันหน่อยดีกว่าว่า คุณเป็นเทพจ้าแห่งแมงเม่าหรือไม่ ??? 

1. แมงเม่าที่ล้มเหลวในการลงทุน มีมากกว่ามาก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นเขาจะไม่ค่อยเข้าใจว่า คนที่เขาประสบความสำเร็จจริง ๆ เขาพูดเรื่องอะไร ? หมายความว่าอย่างไร ? เหมือนคุยกันคนละภาษา
2. แมงเม่าไม่เคย มีสมาธิในการคิด + พิจารณาว่า "ทำไม ? เพื่ออะไร ? เพื่อใคร ?"
3. แมงเม่าไม่ค่อยระแวงว่า "ตนเองกำลังเดินทางไปไหน ? อย่างไร ? จุดสิ้นสุดเป็นที่ใด ?"
4. แมงเม่าชอบทำตาม ๆ กันกับคนส่วนใหญ่ เมื่อเขาฮิตทำกำไรกันจากอะไร ก็จะแห่กันไปใช้วิธีนั้น ๆ ในการเอามาเป็นเครื่องมือในการลงทุน จึงกลายเป็นคำกล่าวว่า "80 คนเจ๊ง 10 คน เสมอตัว 10 คนกำไรจากคนใน 80 คน" 
5. แมงเม่าไม่ชอบใช้เหตุผล และการพิจารณาในการซื้อขายหุ้น แต่ชอบใช้ "ความสดวก+หลอกตัวเอง" ว่าต้องเป็นแบบนี้แหละ

6. แมงเม่าไม่กลัวเจ็บปวด จึงไม่รวยสักที !
7. แมงเม่าชอบใช้เหตุการณ์ในอดีต มาเป็นเครื่องมือชี้เหตุการณ์ในปัจจุบัน จึงถูกหลอกได้ง่าย ๆ
8. แมงเม่า ไม่ชอบการเรียนรู้ที่ยากลำบาก แต่สำเร็จผล !
9. แมงเม่า ชอบคนที่มีความคิดเห็นตรงกัน และจะพยายาม "แอนตี้" คนที่คิดไม่เหมือนกับตน ... ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีใจยอมรับ
10. แมงเม่า ชอบยึดติด เพราะเคยทำแล้วผ่าน (มีกำไร) และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และซับซ้อนกว่า (หากเล่นหุ้นมันง่าย ๆ อย่างที่หนังสือเขียนไว้..คนเล่นหุ้นก็รวยกันหมดแล้วหล่ะครับ ?)


11. แมงเม่า ชอบศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่ "ทำเงินไม่ได้" 
12. แมงเม่าเป็นคนใจแคบ ไม่กล้ายอมรับ "ความจริง" 
13. แมงเม่าไม่ค่อยรู้ตัวเองว่า เป็นนักลงทุนแบบไหน ประเภทใด เช่น เล็กสั้นขยันซอย หรือ เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ ชอบ ซึ่งหมายถึง ไม่เคยรู้ตัวเองเกี่ยวกับ เงินในกระเป๋า, สุขภาพจิต, ตนเองควรเป็นนักลงทุนแบบใด (สั้นจิ๊ดเดียว / สั้น ๆ / สั้น / สั้น+กลาง / กลาง+ยาว / ยาวจริง) เมื่อไม่รู้จักตนเอง ก็ไม่สามารถจะปรับกระบวนท่าหรือกลยุทธ์ใด ๆ ได้เลย เพราะมันจะขัดแย้งกันเองทั้งหมด และจะทำให้สับสนในการตัดสินใจซื้อขายหุ้น 
14. แมงเม่าส่วนใหญ่ เป็นคนใจร้อน และอารมณ์อ่อนไหวง่าย 
15. แมงเม่าไม่ชอบ "ทำการบ้าน" ชอบลุยกันสด ๆ ในช่วงเวลาเทรดเท่านั้น

16. แมงเม่า มักไม่ยอมรับสภาพตนเองว่า "โอกาส+เงินทุน+เวลา+แหล่งข้อมูล+วาสนา" ของตนเอง มีความพร้อมและเปิดโอกาสให้ตนเอง นำไปสู่ความสำเร็จในวงการนี้มากน้อยเพียงไร ? สมควรจะยึดเป็นงานหลัก หรือ งานอดิเรก หรือ เลิกดีกว่า ?
17. แมงเม่า กลัวติดหุ้น แต่ไม่กลัวติดดอย (2 คำนี้ มีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง)
18. แมงเม่า ไม่เคยสร้าง หรือศึกษากลยุทธ์ในการเล่นหุ้นเลย สักแต่เพียงว่า "หุ้นลงขาย ๆ ๆ - ขายไม่ทัน คือ ฉันยอมติดหุ้น - เมื่อเวลาเห็นหุ้นขึ้น ฉันต้องซื้อ ๆๆๆ - หากซื้อไม่ทัน ฉันรับไม่ได้ ฉันกลัวตกรถ" เลยไม่รู้กันเลย จุดซื้อหรือจุดขายมันอยู่ตรงไหนกันแน่ ?
19. แมงเม่า "ไม่ชอบทำบัญชี" ให้กับตนเองว่า 1 เดือน หรือ 6-12 เดือน หรือมากว่านั้น พอร์ทมีกำไร หรือติดลบ
20. แมงเม่า ไม่นิยมการสังเคราะห์ ก่อนการปฎิบัติจริง


21. แมงเม่า ชอบหุ้นตัวเล็ก ๆ เพราะรู้สึกว่าซื้อได้เยอะดี แล้ววิ่งได้ไวไฟ ในขณะที่หุ้นตัวใหญ่ ๆ แทบไม่เคยแตะ
22. แมงเม่า ชอบดูกระดาน top gainer มากกว่า top loser
23. แมงเม่า มักดีใจเมื่อขายขาดทุนแล้วหุ้นตกลงไปอีก แต่ในขณะที่สุดเซ็ง เมื่อขายหมูอู๊ด ๆ ได้กำไรแต่หุ้นวิ่งเอา ๆ อย่างไม่เกรงใจ
23. แมงเม่า ใช้เวลาตัดสินใจซื้อหุ้นเร็วยิ่งกว่าเย็นนี้จะกินอะไรดี
24. แมงเม่า มักมั่นใจในตัวเองว่าหากซื้อหุ้นแล้วโดนเจ้าทุบ ตัวเองก็จะเผ่นทัน แต่เอาเข้าจริงมักตัดสินใจไม่ทัน
25. แมงเม่า มักถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไม่เกิน 3 วัน

26. เมื่อเห็นเขาไล่ราคากัน แมงเม่าชอบเข้าร่วมวง เอาตอนที่มันใกล้ดอยแล้ว 
27. เมื่อเห็นเขาทุบหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ แมงเม่ามักตกใจรีบขาย หลังจากขายเสร็จทันใดนั้นหุ้นก็มักขึ้นต่อ 
28. ถ้าไม่มีหุ้นที่ถืออยู่เป็นพิเศษ แมงเม่ามักชอบเล่นราคาเปิดราคาปิดกระโดดเอากำไรส่วนต่างวันต่อวันหรือระหว่างวัน 
29. หุ้นที่ตัวเองตั้งใจจะซื้อจากการวิเคราะห์อย่างดี แมงเม่าจะไม่ซื้อ แต่จะไปซื้อตัวอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ได้เล็งเอาไว้ก่อน 
30. แมงเม่าไม่ชอบถือหุ้นหลายตัว เพราะรู้สึกว่ากำไรไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย 


31. หลายครั้ง หุ้นที่ซื้อ แมงเม่าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทนั้นทำมาหากินอะไร
32. แมงเม่า ไม่ชอบ let profit run เพราะชอบถือหุ้นไม่เกิน 3 วัน ตรงกันข้ามหลายครั้งที่ let loss run เพราะปลอบใจตัวเองว่ามันคงจะกระเตื้องขึ้นบ้างหล่ะน่าาาา แล้วจะ cut loss เมื่อมันใกล้ bottom เต็มทนแล้ว
33.แมงเม่า มักมีหุ้นที่เล็งไว้เสมอ ไม่ว่าตลาดจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง
34. แมงเม่า ชอบแหกกฎการเทรดที่ตัวเองตั้งเอาไว้เสมอ
35. แมงเม่า มีญาณวิเศษที่มักซื้อหุ้นได้เหมือน ๆ กัน (ตัวเดียวกัน) โดยมิได้นัดหมาย 


คุณมีคุณสมบัติครบทั้ง 35 ข้อหรือเปล่าครับ ? ถ้ามียิ่งมาก เส้นชัยแห่งการลงทุนของคุณก็จะยิ่งห่างไกลออกไป ดังนั้นคุณจะต้องปรับตัว ปรับใจ โดยการเอาชนะใจตัวเองให้ได้เสียก่อน และไม่ใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้ววันแห่งชัยชนะจะเป็นของคุณ 

... ขอให้มุ่งมั่นต่อไปนะครับ ถ้าอย่าท้อ และท้อถอย แต่จงสู้ต่อไป ...

ที่มา :
http://www.cway-investment.com/2011/02/blog-post_16.html
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=mhakkeaw&group=16&page=6
http://topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/2007/11/I6007814/I6007814.html
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=306124
http://survivor1989.blogspot.com/2011/07/blog-post.html

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เข้าใจงบการเงินง่าย ๆ สไตล์กูรู

ช่วงนี้เป็นฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2555 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบางบริษัทจะมีจ่ายเงินปันผลกลางปีด้วย วันนี้ผมจึงอยากจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าของบริษัท (Value Creation) และอัตราส่วนทางการเงินแบบง่าย ๆ ที่ได้แนวคิดจาก อ.เทพ รุ่งธนาภิรมย์ ในงานสัมมนาของ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง เพื่อจะช่วยในการอ่านงบการเงินของบริษัทที่ท่านลงทุนอยู่ได้ ดังนี้ :- 


การสร้างมูลค่าของบริษัทต่าง ๆ  (Value Creation) เิริ่มจาก ผู้ืถือหุ้นนำเงินเข้าไปลงทุนในบริษัท (1. Equity หรือ ส่วนของผู้ถือหุ้น) และกู้ยืมเงินจากแหล่งต่าง ๆ มาเพิ่ม (Liabilities / Debts หรือ หนี้สิน) หลังจากนั้นบริษัทก็นำเงินทั้ง 2 ส่วนนี้ไปสร้างสินทรัพย์ (2. Assets) ขึ้นมา แล้วนำเอาสินทรัพย์ที่มี ไปสร้างรายได้ (3. Revenues) เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะเหลือกำไรสุทธิ (4. Net Profits)

เราสามารถพบรายการ Equity (ส่วนของผู้ถือหุ้น), Liabilities / Debts (หนี้สิน) และ สินทรัพย์ (Assets) จาก งบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Financial Position) หรือแต่เดิมเรียกว่า งบดุล (ฺBalance Sheet)ทำให้ได้สมการบัญชี คือ 

"สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ืถือหุ้น"





ส่วนรายการ รายได้ (Revenues) และ กำไรสุทธิ (Net Profits) จะำพบได้ใน งบกำไรขาดทุน (Income Statement or Profit and Loss Statement) ทำให้ได้สมการบัญชีขึ้นมาอีกหนึ่งอัน คือ


"รายได้ - ค่าใ้ช้จ่าย = กำไรสุทธิ"





โดย ค่าใช้จ่าย (Expenses) อาจจำแนกตามหน้าที่งานโดยแบ่งเป็น 6 ประเภท คือ
1.) ต้นทุนขาย (Cost of Goods Sold) 
2.) ค่าใช้จ่ายในการขาย (Selling Expenses) เช่น ค่าโฆษณา, ค่านายหน้าพนักงานขาย, เงินเดือนฝ่ายขาย, ค่าขนส่งออก (ค่าขนส่งสินค้าไปให้กับลูกค้า) เป็นต้น
3.) ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administrative Expenses) เช่น เงินเดือนฝ่ายบริหาร, ค่าเบี้ยประกันภัยสินทรัพย์, ค่าเช่า, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, ค่าเสื่อมราคาอาคารและอุปกรณ์ และหนีสงสัยจะสูญ (ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกหนี้ที่คาดว่าจะเก็บเงินไม่ได้) เป็นต้น
4.) ค่าใช้จ่ายอื่น (Other Expenses) เช่น ขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ เป็นต้น
5.) ต้นทุนทางการเงิน (Financial Costs) เช่น ดอกเบี้ยจ่าย, ค่าธรรมเนียมการกู้ยืม เป็นต้น
6.) ภาษีเงินได้ (Income Tax)

เมื่อเรานำตัวเลขทั้ง 4 มาหาอัตราส่วน จะได้อัตราส่วนต่าง ๆ ดังนี้


1. นำ กำไรสุทธิ (Net Profits) มาหารด้วย รายได้ (Revenues) เรียกว่า "อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)" แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของกิจการในการควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูง แสดงว่า กิจการมีความสามารถในการขาย และควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี

2. นำ กำไรสุทธิ (Net Profits) มาหารด้วย สินทรัพย์ (Assets) เรียกว่า "อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return On Assets : ROA)" เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ธุรกิจใช้ในการดำเนินงาน ค่ายิ่งมาก ยิ่งมีความสามารถในการทำกำไรยิ่งดี

3. นำ กำไรสุทธิ (Net Profits) มาหารด้วย Equity (ส่วนของผู้ถือหุ้น) เรียกว่า "อัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุนรวม (Return On Equity : ROE)" เป็นการวัดความสามรถในการทำกำไรจากเงินทุนของผู้ถือหุ้น หากได้ค่าสูง แสดงว่า ผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง

4. นำ รายได้ (Revenues) มาหารด้วย สินทรัพย์ (Assets) เรียกว่า "อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ (Total Asset Turnover)" แสดงให้เห็นว่า กิจการสามารถนำสินทรัพย์รวมทั้งหมดที่ลงทุนไป นำไปสร้างยอดขายได้กี่เท่า ถ้าอัตรานี้สูง แสดงถึงความมีประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ แต่ถ้าต่ำเกินไป อาจแสดงว่า กิจการมีิสินทรัพย์จำนวนมาก เช่น สินค้าล้าสมัย, ชำรุดเสียหาย, มีสินค้าที่ขายไม่ออก เป็นต้น

5. นำ Equity (ส่วนของผู้ถือหุ้น) มาหารด้วย สินทรัพย์ (Assets) เรียกว่า "อัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์รวม (Equity Ratio)" และจากสมการบัญชีในงบดุล จะได้ว่า ส่วนของผู้ถือหุ้น = สินทรัพย์ - หนี้สิน ทำให้ได้สูตรอีกอย่างหนึ่ง คือ 1 - ( หนี้สิน / สินทรัพย์ ) โดย หนี้สิน หารด้วย สินทรัพย์ เรียกว่า "อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt - Equity Ratio)" ทั้งสองอัตราส่วนนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า สินทรัพย์ของกิจการได้มาจากทุนของผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ ถ้าทั้งสองอัตรานี้สูง แสดงว่า บริษัทมีเจ้าหนี้มากหรือกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับทุนของบริษัท บริษัทก็ย่อมมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงภัยมากขึ้น


ลองฝึกดูงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินของแต่ละบริษัทบ่อย ๆ จะช่วยให้จำได้และเข้าใจยิ่งขึ้น : D


ขอบคุณข้อมูลจาก อ.เทพ รุ่งธนาภิรมย์ และ อ.ธนเดช มหโภไคย

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

“กำไร” หัวใจของธุรกิจ‏




มาทำความเข้าใจเรื่องของ "กำไร" ถือเป็น "หัวใจ" คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วทั้งร่างกาย
บรรทัดแรกของงบกำไรขาดทุน คือ "รายได้" หรือ "ยอดขาย" ของกิจการ อันเกิดจากธุรกิจที่ทำ ซึ่งเมื่อหักด้วย "ต้นทุนขาย" (เช่น ค่าวัตถุดิบ  ค่าแรง ฯลฯ) ก็จะกลายเป็น "กำไรขั้นต้น" (Gross Profit) อันเป็นกำไรตัวแรกในงบกำไรขาดทุน
แต่ชื่อก็บอกแล้วว่า เป็นเพียง "กำไรขั้นต้น" เท่านั้น คือมาจาก รายได้ หรือ ยอดขาย หักด้วย "ต้นทุน" ซึ่งจะทำให้เห็นภาพพื้นฐานได้อย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น สมัยเด็ก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซื้อโค้กแพ็คละ 6 กระป๋อง ในราคา 25 เซ็นต์ จากนั้นจึงเอาไปขายปลีกให้กับคนที่เดินผ่านไปผ่านมาในราคากระป๋องละ 5 เซ็นต์ เท่ากับว่าได้เงินแพ็คละ 30 เซ็นต์ (5 x 6 = 30)
จากยอดขายที่เขาทำได้ 30 เซนต์ต่อแพ็ค เมื่อหักด้วยต้นทุนแพ็คละ 25 เซนต์ เท่ากับว่าบัฟเฟตต์ได้กำไร 5 เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็น "กำไรขั้นต้น" ของหนูน้อยบัฟเฟตต์นั่นเอง
หรือลองยกตัวอย่างธุรกิจใหญ่ๆ บ้าง สมมติว่าเป็น "บริษัทขายเบเกอรี่" ต้นทุนขายก็คือค่าแป้งสาลี น้ำตาล ถั่ว งา ฯลฯ ที่เอามาผลิตขึ้นเป็นก้อนขนมปัง
ทั้งนี้ กำไรขั้นต้น ยังไม่ใช่สิ่งที่เราจะได้รับจริงๆ เพราะยังต้องมีอีกหลายอย่างที่เราต้อง "หัก" ออกไป
ลำดับต่อไปที่เราต้องหักออกก็คือ "ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน"  (Operating Expense) บ้างก็เรียกว่า "ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร" (Selling & Administrative Expense)
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หรือ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ต้นทุนโดยตรงของสินค้าหรือบริการ แต่เกิดขึ้นจากกระบวนการขายสินค้าหรือบริการนั้นๆ หรือเกิดขึ้นจากการบริหารกิจการ  
ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายประเภทนี้ อาทิ เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟในสำนักงาน ค่าน้ำมันรถ ค่าเช่าที่ ฯลฯ
เมื่อนำ "กำไรขั้นต้น" หักออกด้วย "ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน" แล้ว ก็จะเหลือเป็น "กำไรจากการดำเนินงาน" (Operating Profit)
จากตัวอย่างเดิม สมมติ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในวัยเด็กต้องขึ้นรถเมล์ไปซื้อโค้กมาขาย โดยเสียค่ารถเมล์ 1 เซนต์ "ค่ารถเมล์" ที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
และสมมติเล่นๆ ว่า กิจการเริ่มงอกเงย จนหนูน้อยวอร์เรนจ้างเพื่อนที่โรงเรียนไปยืนขายโค้กแทนตัวเอง โดยแบ่งให้เพื่อนแพ็คละ 1 เซ็นต์ รวมแล้วธุรกิจของวอร์เรนจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเท่ากับ ค่ารถเมล์ 1 เซ็นต์ + ค่าจ้างเพื่อน 1 เซนต์ รวมเป็น 2 เซนต์
ดังนั้น กำไรของบัฟเฟตต์ที่เหลืออยู่แพ็คละ 3 เซ็นต์ (5 – 2 = 3) ก็คือ "กำไรจากการดำเนินงาน" นั่นเอง
ในกรณีของบริษัทเบเกอรี่ที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว "ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร" ก็คือ เงินเดือนพนักงาน, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าเช่าที่สำหรับทำโรงงาน ฯลฯ
และที่อธิบายมาทั้งหมด คือ กำไรสองตัวแรก ได้แก่ "กำไรขั้นต้น" (Gross Profit)  "กำไรจากการดำเนินงาน" (Operating Profit) รวมทั้งในฝั่งของต้นทุน คือ "ต้นทุนขาย" และ "ต้นทุนในการดำเนินงาน"
พอจะเข้าใจกันไหมครับ ? ถัดมา เรามาทำความเข้าใจถึงกำไรในบรรทัดต่อๆ ไป ได้แก่ EBITDA และ Net Profit กัน

ขอย้อนกลับมาที่กำไรจากการดำเนินงานสักนิดหนึ่งก่อน คำว่า “กำไรจากการดำเนินงาน” หรือ Operating Profit นี้ บ้างก็เรียกว่า “EBIT” ย่อมาจาก Earnings before Interest and Tax ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกำไรก่อนที่จะหัก “ดอกเบี้ยจ่าย” (Interest) และ “ภาษีเงินได้” (Tax)
เหตุที่ต้องแยก ดอกเบี้ยจ่าย และ ภาษีเงินได้ ออกมาให้เห็น ก็เพราะทั้งสองตัวนี้ คือ “ภาระทางการเงิน” และ“ภาระทางกฎหมาย” ที่กิจการต้องรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามปกติ เมื่อหักทั้งสองตัวนี้แล้ว จึงจะกลายเป็น “กำไรสุทธิ” หรือ Net Profit ซึ่งถือเป็น “กำไรขั้นสุดท้าย” ที่ธุรกิจนั้นทำได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงแม้กำไรจะมีอยู่หลายประเภท แต่ “กำไรสุทธิ” เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญที่สุด เพราะเป็น “บทสรุปสุดท้าย” ของสิ่งที่บริษัทมีอยู่ในมือ
อย่างไรก็ตาม การเอากำไรสุทธิมาวัดผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น บางครั้งก็อาจไม่ถูกต้องเที่ยงตรงเสมอไป เพราะบางบริษัทมี “ค่าใช้จ่ายในทางบัญชี” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บริษัทได้ไม่ได้จ่ายค่าใช้จ่ายในรายการเหล่านี้ออกไป
ค่าใช้จ่ายในทางบัญชีที่ว่านั้น ได้แก่ Depreciation หรือ “ค่าเสื่อมราคา” และ Amortization หรือ “ค่าใช้จ่ายตัดจ่าย” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ “ไม่มีตัวตน” คือ “ไม่ได้จ่ายเงินออกไปจริง” (แต่รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน) เป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น
ดังนั้น วิธีที่จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการทำธุรกิจของบริษัทได้ดีกว่าก็คือ ให้เอาค่าใช้จ่ายทั้งสองตัว (ทั้ง D และ A) บวกกลับเข้าไปใน EBIT ก็จะกลายเป็นกำไรตัวใหม่ ที่เรียกว่า “EBITDA"
EBITDA ย่อมาจาก Earnings before Interest, Tax, Depreciation and Amortization หาได้โดย เอา EBIT บวกด้วย Depreciation (D) หรือ ค่าเสื่อมราคา และ Amortization (A) หรือ ค่าใช้จ่ายตัดจ่าย
ประโยชน์ของ EBITDA ก็คือ เป็นกำไรจากการดำเนินงานจริงๆ เนื่องจากทั้ง I, T, D และ นั้น ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปกติ เมื่อตัดทั้ง 4 ตัวดังกล่าวออกไป จะทำให้เห็น “ภาพที่แท้จริง” ของการประกอบธุรกิจของบริษัท
อาจกล่าวได้ว่า เมื่อเอา EBITDA ของบริษัทต่างๆ มาเทียบกัน จะเห็นถึง “ความสามารถ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ฝีมือ” ในการทำธุรกิจของแต่ละบริษัท โดยไม่มี “ตัวช่วย” ไม่มี “แต้มต่อ” ถ้าเป็นมวยก็คือ วัดกัน “หมัดต่อหมัด” เอาแต่ เนื้อๆ เน้นๆ ให้เห็นๆ กันไปเลย
ดังนั้น เวลาวิเคราะห์ธุรกิจ จะดูแต่ Net Profit อย่างเดียวไม่ได้ อย่าลืมมองกำไรประเภทอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย เพื่อจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนแม่นยำขึ้น 
ขอบคุณข้อมูลจาก ... Club VI คลับวีไอ

วิธีดู “เงินสด” โลหิตเลี้ยงกิจการ‏


เรื่องของ “เงินสด” เปรียบเสมือนโลหิตหล่อเลี้ยงกิจการ ว่าเราจะมีวิธีพิจารณากระแสเงินสดของกิจการต่าง ๆ อย่างไร
คำว่า “เงินสด” ตามนิยามทางการเงินนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ หลักๆ แล้วหมายถึง “เงินสดในมือ” และ “เงินฝากสถาบันการเงิน” ซึ่งหมายถึงเงินที่เราฝากไว้กับธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ
เงินสดของกิจการทั่วๆ ไปจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง เข้าๆ ออกๆ อันมาจากกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัททำ
ทั้งนี้ กิจกรรมซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณเงินสดของแต่ละบริษัท แบ่งได้เป็น 3 เรื่องหลักๆ ดังนี้
กิจกรรมแรกคือ “การจัดหาเงิน” อาทิ บริษัทไปกู้เงินมา จึงมีเงินสดในมือเพิ่มขึ้น เช่นนี้เรียกว่า ได้รับเงินเข้ามาจาก “กิจกรรมจัดหาเงิน” ในทางตรงกันข้าม ถ้ากิจการจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น ทำให้เงินสดในมือเหลือน้อยลง เงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินก็จะลดลง
กิจกรรมต่อมาคือ “การลงทุน” ถ้ากิจการเอาเงินสดไปซื้อเครื่องจักร ซื้อที่ดิน สร้างตึกใหม่ ทำให้เงินสดในมือลดลง เช่นนี้คือ บริษัทจ่ายเงินไปใน “กิจกรรมลงทุน” ในทางตรงกันข้าม ถ้าบริษัทขายที่ดินทิ้ง ได้เงินสดเพิ่มเข้ามา ก็คือได้เงินจาก กิจกรรมลงทุน
กิจกรรมสุดท้าย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุด คือ “กิจกรรมดำเนินงาน” อันหมายถึงการที่เงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นหรือลดลงตาม “ธุรกิจหลัก” ที่บริษัททำ
เช่น ถ้ากิจการขายของได้ ได้เงินสดเพิ่มเข้ามา เช่นนี้คือ ได้เงินสดมาจาก “กิจกรรมดำเนินงาน” ตรงกันข้าม เมื่อบริษัทมีค่าใช้จ่าย เช่น ซื้อสินค้ามาขาย หรือหยิบเงินสดจ่ายออกไปเป็นเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ เงินสดจาก “กิจกรรมดำเนินงาน” ก็จะลดลง
และด้วยความที่เงินสด (Cashจากกิจการต่างๆ มีการ “เข้าๆ ออกๆ” อยู่ตลอด เราจึงมีศัพท์คำว่า “กระแสเงินสด” (Cash flowเพื่อให้เห็นถึงความเป็นพลวัต การมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของเงินสด



ทีนี้ วิธีที่จะพิจารณาว่ากระแสเงินสดของบริษัทไหนดีไม่ดี ต้องดูอย่างไร ?
อันดับแรกคือ ดูที่ "กิจกรรมดำเนินงาน" โดยบริษัทต้องสามารถ “ผลิตเงินสด” ได้ จากธุรกิจหลักของบริษัท โดยการดำเนินงานของบริษัท ส่งผลให้มีเงินสด “เพิ่มขึ้น” ไม่ใช่ “ลดลง”
เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไปทั่วๆ ไป ขายของได้เงินสดมา 100 บาท จ่ายต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ไป 80 บาท เช่นนี้คือกระแสเงินสดเป็นบวก 20 บาท
แต่บางธุรกิจขายสินค้าหรือบริการแล้วอาจไม่ได้เงินสดทันที แต่ได้เป็น “ลูกหนี้” (ในทางบัญชีเรียกว่าลูกหนี้การค้า) ก็ต้องดูต่อไปว่า บริษัทสามารถเปลี่ยนลูกหนี้การค้าให้เป็นเงินสดได้หรือไม่ แต่ระหว่างที่ยังเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้ ก็ต้องถือว่ายังไม่มีเงินสดเข้ามา ดังนั้น แม้จะขายของได้ เงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานก็อาจไม่เพิ่มขึ้น
บางกิจการขายของเป็นเงินเชื่อ แต่ลงทุนหรือจ่ายค่าใช้จ่ายเป็นเงินสดตลอด อย่างนี้กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานก็จะเป็น “ลบ” มากกว่า “บวก” ซึ่งถ้าเก็บหนี้ได้ก็ดีไป แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดเก็บหนี้ไม่ได้มากๆ เข้า ธุรกิจก็อาจมีปัญหาได้



อันดับต่อมา คือ “กิจกรรมลงทุน” หลักการดูก็คือต้องดูว่า การลงทุนนั้นๆ สอดคล้องกับธุรกิจที่บริษัททำหรือเปล่า เช่น  ถ้าบริษัทผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และมีการลงทุนด้วยการซื้อเครื่องจักร เช่นนี้ก็ถือว่าไม่ขัดแย้งกัน
หรือหากบริษัทมีการซื้อที่ดิน เราก็ต้องตามไปดูต่อว่า บริษัทซื้อไปเพื่ออะไร ถ้าซื้อที่ดินเพื่อขยายกิจการ เช่น เอาไปสร้างคลังสินค้า หรือเปิดโชว์รูมใหม่ ก็ถือว่าโอเค (แต่จะสอดคล้องกับแผนงานของบริษัทหรือไม่ขนาดไหน ก็แล้วแต่จะพิจารณา) แต่ถ้าเป็นที่ดินที่เจ้าของอยากได้ จึงไปซื้อเก็บไว้เฉยๆ โดยไม่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เช่นนี้ไม่เข้าท่าแน่นอน เพราะเป็นการเอาเงินสดของกิจการไปใช้เพื่อสนองความต้องการส่วนตน
ถ้ากิจกรรมลงทุนนั้นๆ ทำไปโดยไม่สอดคล้องกับธุรกิจหลักของบริษัท เช่น เป็นบริษัททำบ้านจัดสรร แต่กลับไปซื้อสนามกอล์ฟ โดยอ้างว่าเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทว่าเมื่อดูลึกไปในรายละเอียดกลับพบว่า สนามกอล์ฟนั้นเป็นสมบัติของตระกูลของเจ้าของ เช่นนี้เราก็ต้องตั้งคำถามให้จงหนัก ว่าการใช้เงินสดครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์บริษัทจริงหรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีบางกรณี เช่น บริษัทเอาเงินสดที่เหลือไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งแม้ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท นักลงทุนจึงต้องตั้งคำถามกับผู้บริหารว่าเหตุใดจึงลงทุนเช่นนั้น
โดยหากผู้บริหารเอาเงินสดไปซื้อพันธบัตร ด้วยเจตนาที่จะเก็บเงินไว้เพื่อเตรียมลงทุนในระยะเวลาอันใกล้ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ถ้าไม่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน แทนที่จะเอาเงินสดไปแช่ไว้ในพันธบัตรหลายๆ ปี สู้จ่ายออกมาเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นหรืออย่างน้อยก็เอาไปชำระหนี้ของบริษัทจะดีกว่าหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่สมควรถูกตั้งคำถามทั้งสิ้น
ต่อไปเป็นเรื่องของ “กิจกรรมจัดหาเงิน” ซึ่งหลักๆ ก็คือ “การกู้เงิน” กับ “การจ่ายเงินปันผล” ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
หากบริษัทมีการจ่ายปันผล แปลว่า บริษัทมีเงินสดที่จะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นได้ (เงินสดออกจากบริษัท) ตรงข้ามกับการที่บริษัทไปกู้เงินมา (เงินสดเข้าบริษัท) แน่นอนว่าจะมีเงินสดเพิ่มขึ้น แต่หนี้สินก็เพิ่มด้วย
ดังนั้น พอสรุปได้ว่า สำหรับ “กิจกรรมจัดหาเงิน” ถ้าเงินสด “ออก” จากบริษัท หรือเป็น “ลบ” แปลว่า “ดี” เพราะนั่นหมายความว่าบริษัทไม่ต้องหาเงินจากภายนอก หรือแปลความได้ว่ากิจการ “ไม่ร้อนเงิน”
แต่ถ้าเงินสด “เข้า” มาในบริษัท หรือเป็น “บวก” แปลว่า บริษัทกำลังต้องการเงิน จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เพิ่มทุน หรือใช้วิธีอื่นใดเพื่อให้ได้เงินเข้ามา
ยังมีกรณีอื่นๆ อีกเช่น บริษัทไปกู้เงินธนาคารไว้ ครั้นกิจการทำกำไรได้ มีเงินสดเหลือ จึงเอาเงินสดใช้หนี้ธนาคาร เช่นนี้กระแสเงินสดจะเป็น “ลบ” ซึ่งก็ถือว่า “ดี” อีกเช่นกัน เพราะหากกิจการไม่อยู่ในสถานะที่ดี คงหาเงินมาใช้หนี้แบงก์ไม่ได้
นี่คือภาพรวมๆ ของการดูงบกระแสเงินสด หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้ควรรู้ไม่มากก็น้อยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก ... Club VI คลับวีไอ

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จริงหรือไม่ ? เป็นลูกจ้างเขา ไม่มีวันรวย !!!

Alyson Shontell เขียนไว้ใน businessinsider.com เมื่อ 10 กค 2555 ว่า คุณไม่มีวันรวยจริง ถ้ามัวแต่ทำงานให้คนอื่นอ้าว ถ้าทุกคนเป็นเถ้าแก่กันหมด แล้วเถ้าแก่จะหาแรงงานมาจากไหนล่ะ

Alyson เล่าว่า ในบทความเมื่อเร็วๆ นี้ของ Jeff Haden เรื่อง "คนรวย รวยได้ไง (How the Rich Got Rich)" มีการสรุปผลสำรวจของสรรพากรสหรัฐประจำปีที่สอบถามผู้เสียภาษี 400 คนที่ขอภาษีคืนสูงที่สุด (กลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อคนในปี 2009 เท่ากับ 202.4 ล้านดอลลาร์) ได้ผลออกมาว่า พวกเขารวยเพราะ ...




9%       เป็นลูกจ้าง
7%       ได้ดอกเบี้ย
13%     ได้เงินปันผล
20%     เป็นเจ้าของกิจการหรือร่วมหุ้นทำกิจการ
46%     ได้กำไรในการลงทุนในหลักทรัพย์ (Capital gain)


งานวิจัยนี้ระบุว่า 400 คนในงานสำรวจนี้ ได้เงินจากกำไรในการลงทุนในหลักทรัพย์ (Capital gain) เฉลี่ยต่อคนถึง 92.6 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 16% ของ Capital Gain ที่ผู้เสียภาษีทั้งสหรัฐได้รับเลยทีเดียว Jeff Haden จึงสรุปว่า 

1. การเป็นลูกจ้างอย่างเดียว ไม่มีวันรวย
2. การลงทุนโดยไม่ยอมรับความเสี่ยงเลย ไม่มีวันรวย
3. การลงทุนในหุ้นบริษัทใหญ่ๆ อย่างเดียว ก็ไม่ทำให้รวย
4. การเป็นเถ้าแก่ ไม่ว่าจะบริษัทเดียวหรือหลายๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว หรือเป็นหุ้นส่วนทำให้รวยจริง 


อ่านมาถึงตรงนี้ สรุปได้ว่า เราไม่มีวันรวย หากเราไม่กล้าเสี่ยง และไม่มีทางรวยจริงๆ ถ้ามัวแต่ทำงานให้คนอื่นนอกจากทำงานให้ตัวเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ ยังไม่ต้องรีบร้อนไปลาออกจากงาน แล้วไปเป็นเถ้าแก่กันหมด เพราะมันก็มีข้อยกเว้นบ้าง และหากแห่ไปเป็นเถ้าแก่กันหมด เถ้าแก่ก็ไม่มีแรงงานสิ

เพราะยังมีถึง 46% อันเป็นสัดส่วนสูงที่สุด ที่รวยเพราะได้กำไรในการลงทุนในหลักทรัพย์ (Capital gain)

หมายความว่า เป็นลูกจ้างเขาก็ลงทุนได้ใช่ไหม

ใช่ หากกล้ารับความเสี่ยงในการลงทุน

เป็นลูกจ้างเขา ถ้าเอาแต่ฝากเงินอย่างเดียว หรือมัวแต่ลงทุนในพันธบัตร ตราสารหนี้ ไม่รวยแน่ๆ และอาจจะไม่พอใช้ในบั้นปลายชีวิตเสียด้วยซ้ำ

ทำไมล่ะ

ก็เพราะดอกเบี้ยที่ได้รับมันจะถูกเงินเฟ้อกินไปหมดน่ะสิ





Jim Cramer เจ้าของและผู้จัดทำรายการ Mad Money ช่อง CNBC บอกว่า หุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนอื่นทุกชนิด (อย่ากลัวความเสี่ยงจนไม่กล้าลงทุนระยะยาวในหุ้น) และมีหุ้นเป็นพันๆ ตัวในตลาดที่ทำให้เรารวยได้ และไม่เกี่ยวกับงานที่เราทำ (ทำงานอย่างเดียวโดยไม่ลงทุน ไม่รวย)”


แต่มันก็ยากที่จะรู้ว่าหุ้นตัวไหนจะให้กำไรเรานะ

ใช่ ไม่งั้น Charlie Munger มือขวาของคุณปู่ Warren Buffet คงไม่บอกหรอกว่า ถ้าการลงทุนมันไม่ยากสักหน่อย ใครๆ ก็รวยแล้วสิแต่หลายคนลงทุนในหุ้นแล้วเจ๊งนะ

ก็ใช่ แต่ก็มีอีกหลายคนที่รวยจากหุ้นไม่ใช่หรือ เมื่อเลือกเองไม่เป็น ก็ลงทุนผ่านกองทุนรวมสิ อืม ... อยากรวยจัง  แต่กลัวเขาทำขาดทุนน่ะสิ

ถ้ากลัวๆ อยากๆ อยู่อย่างนี้ ให้ฟังที่คุณปู่ John (Jack) Bogle ผู้ก่อตั้ง Vanguard บริษัทจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกาดูแล้วกัน

คุณปู่แจ็ค พูดว่า ถ้ารับการขาดทุนในหุ้นสัก 20% ไม่ไหว ก็ไม่ควรไปยุ่งกับหุ้น (ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง ผู้ลงทุนในหุ้นต้องเข้าใจและยอมรับได้)

แล้วจงตัดสินใจเองว่า เราจะเพียงพอที่แค่ไหน  เพราะบางทีคนที่ดูเหมือนรวยมากๆ ก็เป็นยาจกในสายตาเรา เพราะเขาไม่เคยพอก็มีไม่ใช่หรือ  


ขอบคุณเนื้อหาจาก คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. บัวหลวง จำกัด

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มารู้จัก Elliott Wave กันเถอะ



หลักการของ Elliot Wave เกิดจาก 3 แนวคิดมารวมกัน คือ
1. Action = Reaction คือ เมื่อมีขึ้น ก็ย่อมมีลง เมื่อหุ้นขึ้นจนเต็มที่แล้ว ก็จะถึงจุดที่มันต้องลง และในทางกลับกัน ถ้าหุ้นมันลงจนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว มันก็พร้อมจะเป็นขาขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในลักษณะคลื่นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
2. คลื่น ประกอบด้วย คลื่นขาขึ้น (Impulse Wave) 5 ลูก ประกอบด้วย 1-2-3-4-5 และ คลื่นขาลง (Corrective Wave) 3 ลูก ประกอบด้วย a-b-c
3. วงจรหุ้นหรือวงจรตลาด 1 รอบ จะประกอบด้วย Impulse Wave และ Corrective Wave ตามนี้ไปตลอด

เมื่อเอา 3 หลักการมารวมกัน จะได้คลื่น ดังภาพด้านล่างนี้




รายละเอียดแต่ละคลื่น
- Impulse Wave

คลื่น 1 เป็นคลื่นแรกหลังจากตลาดปรับฐาน การปรับตัวขึ้นจะยังไม่แรงมาก เพราะนักลงทุนไม่แน่ใจว่าข่าวร้ายหมดไปแล้ว คลื่นนี้ปริมาณการซื้อขายจะเบาบาง แต่แรงขายก็มีไม่เยอะ

คลื่น 2 เป็นการปรับฐานหลักจากนักลงทุนที่ลงทุนไปตั้งแต่คลื่น 1 ได้กำไรมาพอสมควร สาเหตุของการขายทำกำไรระยะสั้นนี้ เพราะนักลงทุนกลุ่มนี้ยังไม่มั่นใจว่าตลาดจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปต่อหรือเปล่า และอาจมีนักลงทุนที่ขาดทุนตั้งแต่รอบขาลงรอบที่แล้วด้วย เพราะเชื่อว่าเป็นแค่การรีบาวน์ระยะสั้น ๆ เท่านั้น

คลื่น 3 ปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับคลื่น 1 และ 2 ตลาดมีความมั่นในมากขึ้น โดยปกติแล้ว คลื่น 3 นี้ จะเป็นคลื่นที่ได้กำไรมากที่สุด เพราะเป็นคลื่นที่กินระยะเวลานานกว่าคลื่น 1 และ 5 รวมทั้งส่วนใหญ่เป็นคลื่นที่มีความชันมากที่สุดอีกด้วย

คลื่น 4 เมื่อพบจุดสูงสุดของคลื่น 3 ก็จะมีแรงขายออกมา ซึ่งบริเวณนี้ ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นหรือตลาด ได้มาถึงราคาที่เหมาะสมแล้ว หรืออาจมีข่าวร้ายที่มีนัยสำคัญ กระทบต่อราคาหุ้นหรือปัจจัยตลาดอย่างรุนแรง แต่ด้วยภาวะตลาดที่เป็นขาขึ้น นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นสูง จึงทำให้ยังมีแรงซื้อกลับจากนักลงทุนที่ยังเชื่อว่าตลาดไปต่อได้ หรือเกิดจากนักลงทุนที่ตกรถในคลื่น 3

คลื่น 5 วิ่งเพราะอารมณ์ตลาด ในคลื่นนี้ ข่าวดีจะมีเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ กลบข่าวร้ายที่มีผลต่อตลาดหมด

- Corrective Wave

คลื่น a นักลงทุนจะขายออกมาในปริมาณมาก บ่อยครั้งเกิดจากข่าวร้ายที่กระทบกับปัจจัยพื้นฐานแบบฉับพลัน

คลื่น b นักเก็งกำไรระยะสั้น และนักลงทุนบางกลุ่ม ยังเชื่อว่าปัจจัยนั้นไม่น่ากระทบกับราคาหุ้นมาก จึงทำการเข้าซื้ออีกครั้ง โดยการรีบาวน์ขึ้นจะไม่สูงกว่าจุดสูงสุดของคลื่น 5

คลื่น c เกิดจากการขายอย่างตื่นตระหนก (Panic Sell) นักลงทุนหมดความหวังกับหุ้นตัวนี้หรือภาวะตลาดในช่วงนั้น โดยในปลายคลื่น c แรงขายจะลดลงเหลือเบาบาง สะท้อนว่า คนที่อยากขายได้ขายออกมาจนใกล้จะหมดแล้ว

กฎและแนวทางการนับคลื่น

Rule 1 : Wave 2 can never retrace more than 100% of wave 1.
กฏข้อที่ 1 : Wave 2 จะต้องไม่ต่ำกว่าจุดเริ่มต้นของ Wave 1

Wave 2 มักจะประกอบด้วยคลื่นย่อย a-b-c ถ้าเรานับคลื่นแล้วเห็นว่า Wave 2 ลงมาแรงกว่าจุดเริ่มต้นของ Wave 1 ให้รู้ทันทีว่า "ผิด" โดยสามารถนำไปใช้เป็นกลยุทธ์ในการเข้าลงทุนในจังหวะที่ดีจุดหนึ่ง ซึ่งก็คือ การเข้าซื้อในช่วงเริ่มต้นของ Wave 3 ตามรูปด้านล่าง




ขั้นที่ 1 ต้องดูว่า ขาลงที่เราเห็น (รูปด้านซ้าย) ลงมาต่ำกว่าจุดเริ่มต้นของคลื่น 1 หรือเปล่า (เส้นประสีแดงด้านล่าง) หากไม่ต่ำกว่า และมีการดีดตัวขึ้นไป ให้เตรียมเงินไว้ทันที

ขั้นที่ 2 หากราคาหุ้นหรือดัชนี สามารถทะลุผ่านจุดสูงสุดของคลื่น 1 ได้ (รูปด้านขวา) นักลงทุนต้อง “ซื้อตาม” (Follow Buy) เพราะมีโอกาสสูงมากที่คลื่นลูกนี้จะเป็นคลื่น 3 ซึ่งเมื่อรวมกับกฏที่ว่า “Wave 3 ต้องไม่สั้นที่สุด”ก็หมายความว่า กำไรจากการเข้าซื้อลงทุนตรงจุดนี้มีสูงมาก

กรณีที่ไม่เป็นอย่างที่เราหวังไว้ ยกตัวอย่างเช่น เด้งแล้ว แต่ไม่สามารถผ่านจุดสุงสุดของคลื่น 1 ไปได้ หรือผ่านไปได้ แต่ดันโดนเทขายลงมาท ำให้ราคาต่ำกว่าจุดสูงสุดของคลื่น 1 อีกครั้ง สิ่งที่ควรทำ คือ "ตัดขาดทุน (Cut Loss)" ออกไปก่อน เพราะรูปแบบโครงสร้างราคาไม่ได้เป็นไปตามที่เรามองไว้

เราสามารถนำหลักการ Elliott Wave ข้อนี้ มาใช้กำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้ คือ “Buy The Breakout” หรือ ซื้อเมื่อทำจุดสูงสุดใหม่ (Higher High) ซึ่งนักเทคนิคหลายคนก็นำไปปรับใช้ในการเทรด ถึงแม้นับคลื่นไม่เป็น แต่พอเห็นรูปแบบนี้ ก็ซื้อตาม และมีโอกาสทำกำไรสูงด้วย

Rule 2 : Wave 4 may never end in the price territory of wave 1.
กฏข้อที่ 2 : Wave 4 จะต้องไม่ต่ำกว่า Wave 1

คลื่น 4 เป็นคลื่นปรับฐาน จะลงลึกเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าจุดสุงสุดของคลื่น 1 หากต่ำกว่า แสดงว่าเรานับ "ผิด" หมด ต้องเริ่มนับใหม่ ในด้านการวางแผนการเทรด สมมติว่าอยู่ในคลื่นลูกที่ 3 ด้วยกฏข้อนี้ เขาจะใช้จุดสูงสุดของคลื่นลูกที่ 1 เป็นแนวรับสำคัญ ทันทีที่หลุดแนวรับดังกล่าวลงมา แปลว่า ราคาหุ้นหรือดัชนีนั้น ๆ เข้าสู่ขาลง จุดนี้จึงถือเป็นจุด Stop Loss ที่สำคัญอีก 1 จุด




ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ ความแรงของคลื่น 4 ส่วนใหญ่จะแรงกว่าคลื่น 2 ซึ่งเป็นคลื่นขาลง (Corrective Wave) เหมือนกัน ความยากก็คือ อาจลงแบบทีเดียวจบ แล้วตามด้วยการเข้าสู่คลื่น 5 ทันทีก็ได้ ดังนั้น นักลงทุนที่เข้าลงทุนในช่วงนี้ จะต้องทนทั้งความผันผวนที่สูงขึ้น และ Upside จากการลงทุนน้อยกว่านักลงทุนที่ลงทุนในช่วงคลื่น 3 ถ้าใครจะลงทุนช่วงนี้ ควรลงทุนระยะสั้น และกำหนดจุด Stop Loss รวมทั้งต้องทำตามวินัยอย่างเคร่งครัด

Rule 3 : Wave 3 may never be the shortest impulse wave of waves 1, 3 and 5.
กฏข้อที่ 3 : Wave 3 ต้องไม่สั้นที่สุด

คำว่า ไม่สั้นที่สุด หมายถึง คลื่น 3 อาจจะเป็นคลื่นที่ยาวที่สุดในคลื่นขาขึ้น (Impulse Wave) แต่ถ้าไม่ยาวที่สุด ก็ต้องไม่สั้นที่สุด เช่น คลื่น 1 อาจยาวกว่าคลื่น 3 ก็ได้ แต่คลื่น 3 ต้องยาวกว่าคลื่น 5 ถ้าปรากฏว่า คลื่น 3 สั้นกว่าคลื่น 5 ด้วย จะทำให้่ึคลื่น 3 สั้นที่สุด ถือว่า "ผิด"




วิธีการดูว่า ขาขึ้น (Impulse Wave) หมดรอบไปแล้ว ?
วิธีที่ 1
1. หาคลื่น 2 และ 4 ให้เจอก่อน
2. ลากเส้นแนวโน้มขึ้น (Uptrend Line) ไว้
3. เมื่อดัชนีหรือหุ้นของเราตกลงมาต่ำกว่าเส้นนี้ ถือว่าเข้าสู่ Corrective Wave ตามรูปด้านล่าง




วิธีที่ 2
หา Bearish Divergence (จุดกลับตัว) ซึ่งก็คือ ดัชนีหรือราคาหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (Higher High) แต่เครื่องมือทางเทคนิค เช่น RSI หรือ MACD ไม่ทำจุดสูงสุดใหม่ด้วย ระวัง !!! การเข้าซื้อเพิ่ม ขอยกตัวอย่างดัขนี SET Index เมื่อตอนช่วงปี 2006-2008 ตามภาพต่อไปนี้




สำหรับในช่วง Corrective Wave หากเจอ Bullish Divergence ซึ่งก็คือ ดัชนีหรือราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดใหม่ (Lower Low) แต่เครื่องมือทางเทคนิคกลับไม่ทำจุดต่ำกว่า แสดงว่า แรงขายใกล้หมดแล้ว แนะนำ !!! เตรียมเงินเข้าซื้อ

คลื่นขาขึ้น และขาลง ในแต่ละคลื่น อาจจะมีคลื่นลูกเล็กลูกน้อย ซึ่งผู้ใช้ต้องจินตนาการเอาเองว่าจะนับด้วยวิธีไหน ดังเช่นรูปด้านล่างนี้




จากงรูป จะเห็นว่า ในคลื่น 1, 3 และ 5 อาจจะประกอบไปด้วยคลื่นลูกเล็ก ๆ อีก Wave ละ 5 คลื่นด้วยกัน (minor impulse wave) และคลื่น 2 และ 4 ก็เป็นไปได้ว่า จะมี a-b-c เล็ก ๆ อยู่ในนั้นอีก

เรื่องที่นักลงทุนสามารถเอาแนวคิด Elliot Wave ไปใช้ได้ คือ ภาวะตลาด และอารมณ์ของนักลงทุนในแต่ละคลื่น ถ้าเรารู้ว่ามวลชนในตลาดอยู่ในภาวะแบบไหน ก็จะพอเดาได้ว่า อยู่ในคลื่นไหน ควรซื้อ ถือ หรือขาย

ซื้อ-ขาย โดยใช้ Fibonacci
ลำดับตัวเลข Fibonacci (Fibonacci Sequence) ได้แก่ 1, 1, 2, 3, 5, 8, 13, 21, 34, 55, 89, 144, 233, 377, ... โดยตัวเลขตั้งแต่ตำแหน่งที่ 3 เป็นต้นไป เกิดจากกการนำตัวเลข 2 ตัวข้างหน้ามาบวกกัน เช่น 1+1=2, 1+2=3, 2+3=5, 3+5=8 ไปเรื่อย ๆ

ในการคำนวณสัดส่วน Fibonacci จะยกเว้นการคำนวณในตัวเลขลำดับ 5 ตัวแรก คือ 1, 1, 2, 3, 5
1. เมื่อนำเลขลำดับแรกหารด้วยลำดับถัดไป 1 ตำแหน่ง เช่น 8 หารด้วย 13, 13 หารด้วย 21, 21 หารด้วย 34 เมื่อหารอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ค่าที่ได้จะเข้าใกล้ 0.618
2. เมื่อนำเลขลำดับแรกหารด้วยลำดับถัดไป 2 ตำแหน่ง เช่น 8 หารด้วย 21, 13 หารด้วย 34, 21 หารด้วย 55 เมื่อหารอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ค่าที่ได้จะเข้าใกล้ 0.382
3. เมื่อนำเลขลำดับแรกหารด้วยลำดับถัดไป 3 ตำแหน่ง เช่น 8 หารด้วย 34, 13 หารด้วย 55, 21 หารด้วย 89 เมื่อหารอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ค่าที่ได้จะเข้าใกล้ 0.236
4. จำนวนเท่าของตัวเลข Fibonacci คือ 0.618, 0.618+1.00 = 1.618, 1.00+1.618 = 2.618 และ 1.618+2.618 = 4.236

สัดส่วนตัวเลข Fibonacci ที่นิยมนำมาวิเคราะห์หาแนวรับแนวต้าน ประกอบด้วย 0.236, 0.382 และ 0.618 รวมทั้งเพิ่ม 0.500 ด้วย เมื่อวิเคราะห์จะหาอยู่ในรูปเปอร์เซ็นต์ ดังนี้ 23.6%, 38.2%, 50% และ 61.8%

ขั้นตอนการนำไปใช้
1. มองภาพคลื่นใหญ่ หาจุดเริ่มต้น (Wave 1) ให้เจอ หรือหากหาจุดสิ้นสุดของ Wave C ในรอบที่แล้วได้ เราก็ได้ Wave 1 ของรอบใหม่
2. พิจารณาว่า เราอยู่ในคลื่นลูกที่เท่าไร 1-2-3-4-5 หรือ a-b-c เพื่อใช้ในการคาดคะเนว่า ตัวเลขแนวต้าน-แนวรับตรงไหน น่าจะสำคัญ สำหรับคลื่นลูกนั้น ๆ
3. หากลองนับแล้ว ไม่รู้ว่าคลื่นใหญ่มันจะไปจบแถวไหน ก็วัดคลื่นย่อยช่วย เช่น อยู่ใน Wave 3 และไม่แน่ใจคลื่นลูกนี้ใกล้จะจบหรือยัง ก็เข้าไปดูกราฟรายย่อยลงไป เพื่อดูคลื่นย่อย เราอาจจะพบว่า คลื่นย่อยก่อตัวครบ 5 คลื่นแล้ว กำลังจะปรับฐาน แสดงว่า ในคลื่นใหญ่ กำลังเข้าสู่ Wave 4 อาจจะขายเอากำไรออกมาก่อนก็ได้
4. การปรับฐาน (Retrace) ที่เกิดขึ้น ให้ใช้สัดส่วนตัวเลข Fibonacci มาช่วยหาแนวรับ โดยใช้จุดเริ่มต้นของคลื่นนั้นเป็น 0% และใช้ปลายยอดของคลื่นนั้นเป็น 100% เพื่อวัดหา Fibonacci Retracement ก็จะได้แนวรับทางทฏษฏี Fibonacci ที่อยู่ในสัดส่วน 23.6%, 38.2%, 50% และ 61.8% ถ้าใช้ Fibonacci กับกฏข้อที่ 2 ก็จะทำให้มีความแม่นยำเพิ่มสูงขึ้น




การหาราคาเป้าหมาย (Target Price)
โดยปกติ หากเจอการปรับฐาน เราจะใช้จุดสูงสุดเดิมของคลื่นลูกก่อนหน้าเป็นแนวต้านแรก แต่ถ้าราคาหุ้นดีดมาไม่ถึงจุดสูงสุดเดิม ก็มีแนวโน้มดีดขึ้นมาได้ 23.6%, 38.2%, 50% และ 61.8% ของจุดสุงสุดของคลื่นลูกก่อนหน้ากับจุดต่ำสุดของการปรับฐานที่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่หากราคาหุ้นสามารถทะลุผ่านจุดสุงสุดเดิมได้ ทำ Higher High ราคาเป้าหมาย ก็คือ 161.8%, 261.8% หรือหากเป็นคลื่นที่แรงจริง ๆ ก็สามารถวิ่งขึ้นได้ถึง 423.6%

ขอให้นักลงทุนนำบทความนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการลงทุนนะครับ
โชคดีในการลงทุนทุกคนนะครับ : )

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
- คุณชยนนท์ รักกาญจนันท์ ตำแหน่ง Strategy and Portfolio Performance Section Head ของฝ่ายธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในเว็บ Fundmanagertalk.com
- Elliotwave.com
- หนังสือ "พิชิตหุ้น และอนุพันธ์ด้วยปัจจัยทางเทคนิคชั้นสูง" ของ ป.ดัชนี